>> ธุรกิจ ความพอเพียง และซีเอสอาร์
  
  การดำเนินธุรกิจตามแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถือเป็นหนึ่งในหัวใจของการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือซีเอสอาร์ และนี่คือที่มาของการพูดคุยของทีมงานวารสาร “ธุรกิจกับสังคม” และ คุณพิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้ก่อตั้งชมรมไทยพัฒน์ และ ผู้บริหารบริษัท ชื่อไทย.คอม ซึ่งเป็นนักธุรกิจผู้หนึ่งที่ดำเนินชีวิตและธุรกิจอยู่บนเส้นทางดังกล่าว

อยากทราบประวัติส่วนตัวและความเป็นมาของบริษัทครับ
ผมจบด้านวิศวะ ตอนนี้กำลังเรียนปริญญาเอกด้านพุทธศาสนา ก่อนมาเปิดบริษัท ชื่อไทย.คอม เคยทำงานกับบริษัทต่างชาติมาก่อน ตอนนั้นได้เงินเดือนสูงมาก แต่วันนี้เหลือนิดเดียว (หัวเราะ)

ตรงไหนคือจุดเปลี่ยนครับ
ทำงานกับบริษัทใหญ่ เราไม่มีโอกาสใช้ความคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ผมได้สัมผัสและได้รับแรงกัดดันจากธุรกิจกระแสหลักพอสมควร และเริ่มอยากทำอะไรให้ชาติบ้านเมือง และก็ศึกษาพุทธศาสนามานานแล้ว ผมเลยตัดสินใจออกมาทำเอง และก็เอาปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงเข้ามาใช้ รวมทั้งได้ก่อตั้งชมรมเล็กๆ ขึ้น ชื่อชมรมไทยพัฒน์ ซึ่งตรงนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับตอนเรียนปริญญาเอกได้เจอ อ.อภิชัย พันธเสน ซึ่งท่านเชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐศาสตร์แนวพุทธ

ได้มีโอกาสช่วยงานอาจารย์อภิชัยเหรอครับ
ครับ ตอนนี้ผมกำลังทำวิจัยเรื่องฐานข้อมูลและตัวชี้วัดในระบบเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่ทำธุรกิจแนวนี้รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงจุดไหน และสามารถพัฒนาได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น

แสดงว่าสุดท้ายก็ต้องมีตัวเลข และต้องวัดผลได้ ซึ่งจริงๆ แล้วแนวคิดเรื่องซีเอสอาร์ ก็มีบางคนคิดว่าควรทำแบบนี้เหมือนกันนะครับ
ควรวัดผลได้ครับ แต่ต้องมีกระบวนการเรียนรู้ด้วยไม่ใช่แค่มีใครทำดัชนีออกมาแล้วก็จบ เพราะสุดท้ายแนวคิดก็ไม่ถูกนำไปปฏิบัติ การทำซีเอสอาร์ก็เช่นเดียวกัน ไม่ควรเป็นแบบระบบไอเอสโอที่มีการ Certity แล้วก็จบ แต่เราควรสร้าง Forum หรือมีการระดมสมองร่วมกัน และควรเป็นซีเอสอาร์ของคนไทยทุกคน

ซีเอสอาร์จะแจ้งเกิดในเมืองไทยได้อย่างไรครับ
เรายังขาดต้นแบบหรือกรณีศึกษา และยังมีบางส่วนที่ทำเพื่อสร้างภาพ ซึ่งตรงนี้ตัวชี้วัดน่าจะช่วยได้บางส่วนก็ยังมองว่า การทำธุรกิจแยกออกจากสังคม ซึ่งจริงๆ แล้วต้องกลมกลืนกันไป คนที่ทำซีเอสอาร์ด้วยใจและทำได้ถูกต้อง เราต้องทำให้เขาแข็งแรง ส่วนคนที่บิดเบือนหรือยังไม่เข้าใจ เราควรดึงเขาให้มามีส่วนร่วมให้มากที่สุด แล้วเขาก็จะปรับตัวได้เอง ไม่ควรคิดแบบฝรั่ง ประเภทเสียแล้วคัดทิ้ง เราต้องเชื่อมั่นว่ามนุษย์มีเมล็ดพันธุ์แห่งความดี

อีกอย่างหนึ่งที่เราน่าจะทำได้ก็คือ การตั้งบริษัทโฮลดิ้งขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางในการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ โดยเราต้องดึงธุรกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเกษตรกร คนชนบท มาเข้ากลุ่มให้มากที่สุด และควรมีการบริหารจัดการเรื่องผลประโยชน์ให้เป็นธรรม

อีกด้านหนึ่งเราควรให้การศึกษา ให้ความรู้แก่คน เพราะเรื่องนี้เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจมาก

ในแง่ของบริษัท ชื่อไทย.คอม เองล่ะครับ
เราอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้อง ในความรู้สึกผม ผมว่าเราทำธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงสำเร็จ ส่วนอุปสรรคที่พบก็คือ บุคคลเบื้องบน (ผู้ถือหุ้น) อาจจะรับได้เป็นบางคนเท่านั้น ส่วนเบื้องล่าง (ผู้ใต้บังคับบัญชา) มักจะติดเรื่องรายได้ ผมเองยังเคยควักกระเป๋าตัวเองเพื่อสนับสนุนให้พนักงานไปทำงานการกุศล บริษัทเราพอเลี้ยงตัวได้ เรียกว่ามีผลกำไรพอเพียง ได้เงินจากโปรเจ็คท์ใหญ่ๆ ก็เอากำไรมาแบ่งกัน เรามีช่องว่างของเงินเดือนน้อยมาก และเราจะเลือกทำโปรเจ็คท์ที่ถนัดจริงๆ หากไม่มั่นใจเราไม่ทำ เพื่อลดความขัดแย้ง ความยุ่งยากต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น

ถึงแม้เราจะเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาความแปลกแยกต่อพุทธศาสนา เราได้มีโอกาสช่วยวัดๆ หนึ่งในการพัฒนาโปรแกรม และเกิดเป็นบัตรเพื่อใช้ในการทำบุญขึ้นมาชื่อว่า “บัตรทานบารมี” หลักการก็คือ เราจะแจกบัตรให้ผู้มีจิตศรัทธาด้วยมูลค่าๆ หนึ่ง เขาศรัทธาจะทำบุญวัดไหนก็โทรมาที่คอลล์เซ็นเตอร์ แล้วเราก็จะโอนเงินไปที่วัดนั้นให้ ถ้ามูลค่าในบัตรหมด อยากเติมเงินก็เติมได้ การมีบัตรทำบุญติดตัวเราตลอดน่าจะช่วยกระตุ้นจิตใจเราให้พร้อมที่จะเป็นผู้ให้อยู่เสมอ ผมคิดว่าเป็นอีกขั้นหนึ่งของพุทธศาสนิกชนในการทำความดี ซึ่งสอดคล้องกับชีวิตในยุคปัจจุบัน

อยากฝากอะไรถึงผู้อ่าน หรือคนทำธุรกิจที่ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ซีเอสอาร์ ครับ
ขอให้มั่นใจว่าสิ่งดีๆ จะยังคงอยู่ตลอดไป จะมีคนกลุ่มใหญ่ที่ต้องเห็นโลงศพแล้วจึงหลั่งน้ำตา แต่ก็มีคนส่วนน้อยอย่างพวกเราที่ปรับตัวก่อน และขอให้เชื่อมั่นว่านักธุรกิจสามารถเลือกหนทางทำธุรกิจได้โดยไม่ต้องห่วงกระแสหลัก


(วารสารธุรกิจกับสังคม ฉบับที่ 3 ประจำเดือนมีนาคม 2548 หน้า 22)
 
     
ThaiURL.com © All Rights Reserved. Copyright 1999-2012 Please read our disclaimer