| |
| >> 3 พลัง 3 แนวคิด Healthy Organization | | |
|
ในสถานการณ์ที่น้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ฉุดรั้งให้เศรษฐกิจหดตัวลงทั่วโลก ทุกองค์กรจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีหนทางหนึ่งคือการประยุกต์ปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" เพื่อสร้างองค์กรให้ความแข็งแรง ให้มีสุขภาพดี หรือ healthy organization มันทำได้อย่างไร ? หรือมันเป็นเพียงคำพูดที่สวยหรูเท่านั้น ?
เครือ "ปูนใหญ่" มีความเห็นอย่างไร ? เครือ "แพรนด้า" จัดการอย่างไร ? และ "ชื่อไทย.คอม" มีไอเดียอย่างไร ? แล้วองค์กรของเราจะสกัดแนวคิดบางแง่มุมไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ? ทั้ง 3 องค์กรนี้มีแนวคิดที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง !
องค์กรต้องโตพร้อมกับ ศก.-สังคม
"อภิฤดี พัฒนลีนะกุล" ผู้ช่วยผู้จัดการ HR Shared Services บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) มีมุมมองว่า ถ้าองค์กรนำปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับองค์กรแล้วจะทำให้องค์กรมีสุขภาพดี หรือ healthy organization ซึ่งจะมี 4 ลักษณะร่วมกัน
1.จะต้องมีหลักการ มีค่านิยมที่ชัดเจน และมีการเผยแพร่ให้พนักงานในองค์กรได้ทราบโดยทั่วกันอย่างชัดเจน
2.องค์กรต้องมี productivity focused ทำให้เราแข่งขันได้ในด้านต้นทุน ซึ่งจะสร้างกำไร ทำให้เราพัฒนาสินค้าและให้บริการอย่างต่อเนื่อง
"ปี 2535 เรามีจอยต์เวนเจอร์กับญี่ปุ่นเยอะ เราได้รับแนวคิด total quality commitment มาใช้ เราได้มีการแอ็ปพลายระบบคุณภาพต่างๆ เช่น ไอเอสโอ ซึ่งเป็นพื้นฐานทางคุณภาพในการดำเนินธุรกิจ"
3.ต้องเป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่นพร้อมที่จะปรับตัว เข้าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ ได้
"องค์กรที่มีสุขภาพดีไม่ใช่องค์กรที่ไม่มีโรคเลย หรือว่าไม่เคยประสบวิกฤต เพียงแต่เมื่อประสบวิกฤตแล้วสามารถฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน"
4.ต้องมีการบริหารงานบุคคลที่ aligned to business direction ซึ่งเรามีระบบการบริหารงานบุคคลที่ direction กับด้านการตลาด ช่วงที่มีการจอยต์เวนเจอร์กับญี่ปุ่น เราได้คัดเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ภาษาท้องถิ่น ซึ่ง HR จะต้องเป็น business partner ให้ได้ตลอด
ปูนซิเมนต์ไทยให้ความสำคัญกับสภาพแวด ล้อมในการทำงาน ด้านความปลอดภัย มีนโยบายในการดูแลพนักงานเหมือนพี่เหมือนน้อง ให้สวัสดิการก่อนที่พนักงานจะเรียกร้อง มีการจัดตั้งชมรมในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยบริษัทสนับสนุนเงินให้แล้วพนักงานไปบริหารจัดการกันเอาเอง
"องค์กรที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนได้จะต้องเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจและสังคม เราจึงมีการคืนกำไรให้สังคมและชุมชน"
หัวใจสำคัญอยู่ที่คน
หัวใจสำคัญของเรื่อง HR Policy ซึ่งเป็นสิ่งที่ขับดันให้เกิดเศรษฐกิจพอเพียง เครือซิเมนต์ไทยตระหนักในความสำคัญเรื่องคน
"เราดูแลคนด้วยระบบ merit system ไม่รับเด็กฝาก ดูแลคนแบบ fairness โดยระบบคณะกรรมการตั้งแต่แรกเข้าโดยต้องผ่านการสัมภาษณ์ของผู้บริหารระดับสูง การประเมินผลงาน และการให้รางวัล ไม่ว่านายเขาจะชอบใจหรือไม่ชอบใจก็ไม่มีผลเพราะเราดูแลด้วยคณะกรรมการ"
เครือซิเมนต์ไทยถือว่าคนเป็น valuable asset จึงเลือกคนเก่ง คนดี มีความสามารถและค่านิยมที่สอดคล้องกับเครือเท่านั้นและจะรักษาเขาดีที่สุด ถือว่า training & development เป็นการลงทุนในระยะยาวไม่ใช่ค่าใช้จ่าย ดังนั้นเราจึงลงทุนในการพัฒนาพนักงานทุกคนอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ
"ตอนนี้การ recruitment นั้นเปลี่ยนจากให้เด็ก walk in มาสมัครงานกับเรา เป็นการรับในเชิงรุก เข้าไปโรดโชว์ในมหาวิทยาลัย คัดเลือกเด็กที่เรียนอยู่ปี 4 เทอม 1 เข้ามา และคัดเลือกคนที่ไปเรียนมหาวิทยาลัยท็อปเทนในยุโรปและอเมริกาด้วยทุนตัวเอง โดยจ่ายเงินคืนให้ครบตามที่เขาจ่ายไป"
ระบบเทรนนิ่งนั้นมีหลายแบบ เช่น ให้ทุนการศึกษาปริญญาโทในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ พนักงานที่เข้ามาก็จะมีพี่เลี้ยงดูแลให้เขาเติบโตได้
ประตูทุกบานของ "นาย" ไม่เคยปิด
เครือซิเมนต์ไทยบริหารคนด้วยระบบ proactive labor relation หรือการบริหารแรงงานสัมพันธ์ในเชิงรุก จะไม่รอให้พนักงานเข้ามาบอกว่าเขาต้อง การอะไร แต่ให้พวกผู้จัดการเข้าไปถามพนักงานเองว่าพนักงานเป็นอยู่ดีไหม ต้องการอะไร เพราะฉะนั้นจะเน้นการพัฒนาพนักงานในลักษณะครอบครัว
"ประตูทุกบานของนายที่มีห้องในเครือซิเมนต์ไทยนี่ไม่เคยปิด ลูกน้องจะเดินไปหานาย ไปพูดได้ทุกเรื่อง"
จะมี HR ไปเดินโรงงานอยู่เสมอ ไปดูแลเขา และให้พนักงานเองมีส่วนร่วมในชุมชนสัมพันธ์ด้วย ออกไปคุยกับชาวบ้านในแถบโรงงาน ไปงานบวช ไปงานศพ เป็นต้น
ส่วนเรื่อง total quality management ตรงนี้เป็นพื้นฐานและหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการเรื่องคุณภาพของเครือ โดยมีคอนเซ็ปต์ market in รับความต้องการของลูกค้ามาพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และให้พนักงานทุกคนมีวัฒนธรรมคำนึงถึงคุณภาพ
"เราพิจารณาเรื่องการบริหารในเรื่องธุรกิจกับเรื่องบุคคลสอดคล้องกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยในเรื่องธุรกิจนั้นปูนซิเมนต์ไทยเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนเรื่องบุคคลนั้นจะรับพนักงานไม่เยอะ แต่จะ utilize เขาให้เต็มความสามารถ มีแผนการ rotation ให้เรียนรู้งานด้านต่างๆ"
การบุคคลนั้นมีคณะกรรมการดูแลพนักงานในทุกระดับ การสร้างภูมิคุ้มกันนั้นเน้นการสร้างคนไม่เน้นการซื้อคน ซึ่งการสร้างคนนั้นต้องอบรมให้เขามีความสามารถในการปรับเปลี่ยนและก็พัฒนาเขาตลอดเวลา จนเขาสามารถปรับตัวให้เข้ากับเศรษฐ กิจ สภาวะแวดล้อม สังคม และนโยบายของบริษัท โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้และคุณธรรม
ศก.พอเพียงใช้กับธุรกิจได้จริงหรือ ?
"พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" กรรมการผู้จัดการ บริษัทชื่อไทย.คอม กล่าวว่า ตนตั้งบริษัทนี้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ก่อนหน้านั้นเคยทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาระดับชั้นนำของโลกด้านไอที ได้มีโอกาสเรียนรู้ด้านบริหารจัดการ ทั้งเรื่องของ balance scorecard และรวมทั้งเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย
"จากประสบการณ์ที่ได้เป็นเรื่องของความโชคดี ที่เราสามารถที่จะมองในเรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พยายามจะประยุกต์ใช้ให้ได้ประโยชน์เต็มที่ บางครั้งภาคธุรกิจเองก็มีความต้องการเป็น รูปธรรม โดยไม่ให้ความเข้มข้นของตัวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงลดน้อยถอยลง"
จากการที่ได้เข้าไปพูดคุยกับคนอื่นๆ จะมีคำถามท็อปฮิตที่ถามกันบ่อยๆ ว่าธุรกิจมีปรัชญาในเรื่องของ maximize profit แล้วเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเพียงแค่พูดหรือเปล่า ? แค่ทำให้ดูดี แต่ปฏิบัติได้จริงหรือเปล่า ?
"ผมคิดว่าวันนี้ในองค์กรของท่านเองทุกองค์กรมีส่วนประกอบของแนวคิดนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไม่ได้หยิบออกมาเป็นประเด็น อย่างเช่น ในเรื่องของการไม่ไปสร้างหนี้ขององค์กรให้มากเกินกำลัง หรืออย่างที่หลายองค์กรพูดถึงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR อันนี้ก็เป็นการสร้างองค์กรให้เป็นบริบทหนึ่งของเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง"
"ชื่อไทย.คอม" ได้มีโอกาสเข้าไปทำงานวิจัยให้สภาพัฒน์อยู่ชิ้นหนึ่งในเรื่องของการเก็บฐานข้อมูลกลุ่มองค์กรพื้นที่ ที่ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต ได้แบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกัน 1.เป็นระดับที่วิถีชีวิตของเขา เข้าหลักเศรษฐกิจพอเพียงแต่เขาไม่รู้ เช่น การไม่เป็นหนี้ การพึ่งตนเอง หรือองค์กรที่ไม่ไปสร้างหนี้จนหนี้สินล้นพ้นตัว 2.องค์กรกำลังศึกษาและทำความเข้าใจกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง แล้วนำเอาหลักไปประยุกต์ใช้ ถือว่ามีการเคลื่อนไหวอีกขั้นหนึ่ง คือรู้ด้วย ทำด้วย 3.ระดับที่องค์กรสามารถขึ้นมายืนอยู่แถวหน้า เป็นตัวอย่างได้ว่าสิ่งที่ทำมันเกิดผล และคนอื่นๆ จะสามารถเอาใช้เป็นกรณีศึกษาได้
"แต่ตอนนี้มันมีอุปสรรคอยู่ 2 อย่าง คือ 1.หลายคนคิดว่ามันเป็นของสูง ไม่กล้าใช้ แท้จริงแล้วควรจะต้องเอาหลักนี้มาสังเคราะห์แล้วใช้ให้เกิดประโยชน์ และ 2.อยากจะใช้ แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร"
เรื่องของ we กับ he
องค์กรธุรกิจประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ คือ คนในองค์กร กับตัวองค์กร ซึ่งลองตั้งคำถามง่ายๆ กับตัวเองว่า จุดมุ่งหมายของชีวิตของท่านคืออะไร ? และจุดมุ่งหมายขององค์กรคืออะไร ?
"เมื่อพูดถึง healthy ก็ต้องมีการพูดถึง wealthy หรือความมั่งคั่ง ขอเรียกง่ายๆ ว่า he กับ we he หมายถึงเขา อันมีลูกค้า ซัพพลายเออร์ คนในชุมชน ซึ่งหมายถึง social สิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันมีคำใหม่ เขาเรียกว่าระบบนิเวศ (ecology) ซึ่งรวมสังคมกับสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน"
สังคมคือคนในองค์กรมีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกองค์กร สิ่งที่เรียกว่าภายนอกหรือ he แยกเป็น 2 ก้อน คือลูกค้ากับสังคมที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ส่วน we มีพนักงานและบริษัท (ผู้บริหาร, ผู้ถือหุ้น) เท่ากับว่ามี 4 ก้อนที่เกี่ยวข้องกัน
โรคที่มันเกิดขึ้นในองค์กรทุกวันนี้คืออะไร ? ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ he วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกองค์กรบอกว่า customer is King จะเห็นว่าให้ความสำคัญกับลูกค้า มันจะมากกว่า social เมื่อรู้อย่างนี้ต้องรู้ทันทีว่ามีปัญหาเกิดขึ้น เช่น อาจจะเป็นองค์กรการผลิตตั้งอยู่ในชุมชน อาจจะเลยเรื่องมลพิษ
ส่วนที่เป็น we ปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรตอนนี้คือ รู้สึกว่าตัวผู้บริหารหรือตัวผู้ถือหุ้นได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่ากลุ่มก้อนที่เป็นพนักงาน แน่นอนว่าจะต้องมีปัญหาเกิดขึ้น ไม่ช้าก็เร็ว
"ทุกวันนี้องค์กรขนาดใหญ่จะเกิดปัญหาที่ทำให้พนักงานมองว่าผู้บริหารไม่ใช่พวกเราแล้ว แต่เป็นพวกเขา มันก็เกิดการตั้งป้อมกันขึ้น ส่วนจะรู้หรือจะยอมรับก็เป็นเรื่องของแต่ละองค์กร ผมเชื่อว่าทุกองค์กรมีปัญหานี้อยู่ แม้กระทั่งชื่อไทย.คอมเอง"
"อี.เอฟ.ชูมักเกอร์" เคยเขียนไว้ชัดเจนว่า พนักงานในองค์กรทุกวันนี้รู้สึกว่าตัวเองต้องเสียสละความสุขส่วนตัวในการทำงานเพื่อแลกกับเงินเดือน ซึ่งเขาก็เอาเงินเดือนนี้ไปชดเชยกับสิ่งที่ขาดไป ก็เลยกลายว่าทุกๆ เย็นต้องไปหาของอร่อยๆ กิน หาสิ่งบันเทิงกัน ซึ่งตอนเวลางานก็เครียดแล้ว เสียสุขภาพจิต พอเลิกงานก็เสียสุขภาพกายอีก
ถามว่าแล้วเศรษฐกิจพอเพียงจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับ healthy organization อย่างไร ?
เศรษฐกิจพอเพียงแนวคิดนั้นมีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.ความพอประมาณ 2.ความมีเหตุผล และ 3.การมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งนำไปสู่ความสมดุล ความพร้อมจะเปลี่ยนแปลง และได้ความยั่งยืน
"แต่ถ้าไม่มองว่าเป็น "เขา" แต่มองว่าเป็น "เรา" ทั้งหมด จาก we และ he ก็จะนำไปสู่แฮปปี้" กรรมการผู้จัดการบริษัทชื่อไทย.คอมกล่าว
"แพรนด้าฯ" ขอยั่งยืน 100 ปี
"ปรีดา เตียสุวรรณ์" ประธานกรรมการ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ PRANDA GROUP ให้ข้อมูลว่า แพรนด้าฯทำเครื่องประดับอัญมณีมีคนงาน 4,700 คน มีโรงงานอยู่ 5 ประเทศ และประกอบกิจการ 10 ประเทศ ในกลุ่มสินค้าเดียวกัน แพรนด้าฯมีมาร์เก็ตแค็ปสูงสุด และอาจจะมียอดขายสูงสุด เป็นหนึ่งในท็อปไฟฟ์ที่ทำผลงานให้ผู้ถือหุ้นมากที่สุด ซึ่งแพรนด้าฯเกิดขึ้นได้เพราะความเข้มแข็งของสังคมไทยและสังคมตะวันออก
"เรามีความยั่งยืนอยู่ในใจตลอดว่าเราจะยั่งยืนเพื่ออะไร ก็คือเพื่อให้ความมั่นใจแก่คนองค์กรว่าพวกเขาฝากชีวิตไว้ได้ เรามีความมั่นใจว่ากิจการของเราจะรุ่งเรืองอย่างน้อย 100 ปี ตอนนี้แพรนด้าฯอายุ 32 ปีแล้ว ก็ตั้งเป้าไปอีก 68 ปีข้างหน้า"
"ความยั่งยืนก็คือให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมั่นใจ ซึ่งเขาจะได้สนับสนุนความยั่งยืนของเรา พนักงานก็เป็นส่วนที่สำคัญ ถ้ากิจการมีกำไร กำไรทั้งหมดก็จะแจกจ่ายให้พนักงานก่อนจะแจกจ่ายให้ผู้ถือหุ้น โดยแบ่งให้พนักงานตาม scorecard ซึ่งบริษัทได้พัฒนามาเป็น 10 ปีแล้ว องค์กรต้องหลอมดวงใจของพนักงานให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ส่วนผู้ถือหุ้นก็ต้องรู้จักพอ"
จับตาโลกาภิวัตน์ลูกที่ 2 บีบธุรกิจเก่งเฉพาะทาง
"ปรีดา" กล่าวว่า ในส่วนซัพพลายเออร์ก็ควรจะทำให้เขาอยู่กับเราอย่างยั่งยืน ไม่ใช่บี้ราคาจนอยู่ไม่ได้ แถมยังจะยืดเวลาจ่ายเช็คออกไปตั้ง 7-8 เดือน โดยอย่ามองซัพพลายเออร์ว่าเป็นขี้ข้า ควรมองว่าเขาเป็นพาร์ตเนอร์ของเรา
"ผมซื้อพลอยปีละ 2 พันล้านบาท ผู้ผลิตมีความมั่นใจในบริษัท เพราะให้ราคาดี บริการดี พอพลอยเข้ามาในตลาด เมื่อรู้ว่าพลอยแบบไหนที่ แพรนด้าฯต้องการ เขาก็จะเก็บไว้ให้"
พนักงานรู้ว่าบริษัทลำบากก็ช่วยกันเต็มที่ ทำงานหามรุ่งหามค่ำ จนยูเอ็นดีพียกขึ้นเป็นกรณีศึกษา
ปรีดาเล่าว่า แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำในปี 2540 แต่ยอดขายของแพรนด้าฯก็ยังเพิ่มอยู่ ยังมีออร์เดอร์เข้ามา แม้ธนาคารจะไม่ให้กู้ ไปพบก็ไม่ให้พบ จะพบได้ก็ตอนเข้าห้องน้ำเท่านั้น ตนก็โทร.หา ลูกค้า บอกว่าเราไม่มีตังค์ ช่วยส่งเงินมาให้ก่อน เขาก็ส่งมาให้
"กระแสธุรกิจ sustain ability เป็นกระแสในอนาคต เป็นกระแสของโลกาภิวัตน์ครั้งต่อไป มันจะทำให้คนเก่งเฉพาะอย่าง ถ้าไม่แน่จริงจะอยู่ไม่ได้ กระแสเงินลงทุนที่ไหลไปทั่วจะบังคับให้คุณเล่นในบทที่คุณเก่งที่สุด"
"แพรนด้าฯมี mission ว่าจะผลิตเครื่องประดับให้ชาวโลก เราจะทำตัวเองให้เป็นบริษัทที่ยั่งยืน มีความพอเพียง มีความพอดี HR เป็นสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งขององค์กร เพราะอะไรๆ ก็ทำโดยคน"
เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าทำไมองค์กรธุรกิจต่างๆ ถึงต้องมีการพัฒนาคนกันขนานใหญ่ !
|
|