>> ชื่อไทย.คอม ธุรกิจบนเส้นขนาน เมื่อ "ทุนนิยมไม่ใช่คำตอบ"
  
  เทคโนโลยีสารสนเทศ กับศาสนาอาจเป็นเรื่องที่ต่างกันแบบสุดขั้ว เทคโนโลยีสารสนเทศกับเศรษฐกิจพอเพียงอาจเป็นเส้นทางขนานที่ไม่อาจเดินทางมาบรรจบกัน เทคโนโลยีสารสนเทศกับเรื่องศาสนาอาจเป็นเส้นทางคนละทางที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนสามารถสร้างจุดตรงกลางได้

แต่กว่า 6 ปีในธุรกิจดอตคอม "บริษัทชื่อไทย.คอม" บริษัทผู้บุกเบิกบริการจดโดเมนเนมภาษาไทยเกิดขึ้นและยืนหยัดอย่างยั่งยืนบนถนนสายดอตคอม มาจนปัจจุบัน สามารถสร้างความแตกต่างและนำสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามมาสร้างเป็นปรัชญาและแปลงเป็นวิธีการดำเนินธุรกิจ โดยยึดหลัก "ความพอเพียง"

ครั้งหนึ่ง "ชื่อไทย.คอม" ได้รับเชิญในฐานะตัวแทนจากประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมประชุม New Asian Leaders' Retreat ซึ่งจัดโดย World Economic Forum เพื่อถ่ายทอดบทเรียนของการดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

วันนี้ "พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชื่อไทย.คอม จำกัด ถ่ายทอดบทเรียนผ่าน "ประชาชาติธุรกิจ" ในมุมมองการดำเนินธุรกิจในแบบฉบับที่น่าสนใจยิ่ง

เขาเล่าถึงที่มาที่ไปในการดำเนินธุรกิจว่า "ผมเองก็เป็นผลผลิตจากทุนนิยม ผมเรียนวิศวะ และมีเส้นทางชีวิตเช่นเดียวกับคนอื่น เรียนจบมาก็ทำงานบริษัท ซึ่งตอนนั้นธุรกิจดอตคอมมันบูมมาก"

"แต่เมื่อเจอวิกฤตเราได้เห็นบางอย่างที่สะท้อนความไม่เที่ยง และมองว่าไม่ได้เป็นความยั่งยืน ผมจึงเลือกทำธุรกิจที่เป็นธุรกิจทางเลือก พอเจอแนวคิดพุทธเศรษฐศาสตร์จึงคิดว่านี่คือคำตอบ"

พุทธเศรษฐศาสตร์ที่มีรากฐานเดียวกับเศรษฐกิจพอเพียงในการเดินทาง "สายกลาง"

ทุนนิยมไม่ใช่คำตอบ
เขาบอกว่า "ชื่อไทยดอทคอมไม่ใช่ธุรกิจเพื่อสังคมเพียวๆ เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น การก่อตั้งบริษัท ธุรกิจ พนักงานและผู้ถือหุ้นต้องอยู่รอด แต่จากนั้นผมมองว่าขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารว่าจะสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นได้อย่างไร" ฉะนั้นในช่วง 1-2 ปีแรกจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำให้บริษัทสามารถอยู่รอด

"เราจึงไม่เคยบอกว่าเราเป็นธุรกิจเพื่อสังคม เพียงแต่มีพื้นฐานในการทำธุรกิจอยู่ที่ว่า เรามองทุนนิยมไม่ใช่คำตอบ ข้อตกลงบางอย่างระหว่างพนักงานซึ่งไม่ใช่ข้อบังคับ อย่างถ้าได้กำไรมา 10% เราจะมาช่วยสังคม บางครั้งถ้าไม่มีกำไรมากเราก็ใช้องค์ความรู้ที่เรามีไปใช้ในการช่วยสังคม"

ตัวอย่าง การเข้าร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวสายไอที ในการเข้าไปช่วยสอนอินเทอร์เน็ตให้กับชุมชนในชนบท กระทั่งในเหตุการณ์ "สึนามิ" ได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์สึนามิ

สร้างสมดุลสู่ความยั่งยืน
แม้ว่าบริษัทจะอยู่ในอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีจะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง แต่กลับสามารถยืนอยู่ได้ด้วยแนวคิดและวิธีการดำเนินธุรกิจที่มีแบบฉบับของตัวเอง บริษัทไม่กู้เงินจากภายนอก ไม่ลงทุนเกินตัว ไม่รับทำโครงการที่เกินกำลังและความสามารถ ไม่มีการตั้งเป้าการเติบโตด้วยตัวเลขแต่เลือกที่จะเติบโตในแบบค่อยเป็นค่อยไปและคัดเลือกบุคลากรที่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร เหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทสามารถฟันฝ่าวิกฤตดอตคอมในช่วงปี 2545 และกลายเป็นผู้นำในธุรกิจจดทะเบียนโดเมนเนมภาษาไทย และขยายสู่ธุรกิจที่ปรึกษาและงานวิจัยในปัจจุบัน

"ตอนตั้งบริษัทนักลงทุนสนับสนุนงบประมาณ 50 ล้านบาท ผมเป็นคนบอกผู้ถือหุ้นเองว่าเราจะใช้ไม่หมดและใช้ไปเพียง 1 ใน 3 ในช่วงก่อตั้ง ฉะนั้นพอวิกฤตเราถึงสามารถประคองบริษัทขึ้นมาได้ โดยผู้ลงทุนเองก็ไม่ได้รับผลกระทบ มันก็มาจากการที่เราไม่ก่อหนี้และลงทุนเกินตัวจนสามารถเดินมาถึงจุดคุ้มได้ในปี 4-5 ของการทำธุรกิจ"

"ปัจจุบันเราถือว่าอยู่ในช่วงที่เติบโตทีละเล็กทีละน้อย โดยคำนึงถึงความสามารถในการรับงานมากกว่า จึงเห็นว่าบางครั้งเราก็ปฏิเสธงานเนื่องจากไม่เหมาะกับเราหรือบางครั้งก็ไม่มีคนทำ ซึ่งทำให้เราลดความเสี่ยง เพราะฉะนั้นทำให้เราไม่เครียดและสามารถเติบโตไปเรื่อยๆ"

No Growth Company
พิพัฒน์เล่าว่า มีบริษัทหนึ่งในญี่ปุ่น ลูกชายรับสืบทอดกิจการจากพ่อ ถูกสอนว่าต้องตั้งเป้าให้ได้เท่านั้นเท่านี้ แต่พอทำ ลูกน้องลาออกจำนวนมาก จากนั้นทำให้ลูกชายเปลี่ยนแนวคิดใช้คำว่า slower economy หรือ no growth

โดยในแต่ละปีเอายอดขายตั้ง 100% ปีต่อมาก็จะตั้งเป้าเลยว่าจะมียอดขาย 92% คือลดลง 8% ซึ่งสวนทางกับปกติ ที่จะต้องตั้งเป้าว่าจะสูงขึ้นเท่าไหร่ จากนั้นก็เปลี่ยนเวลาจากหยุด 2 วันมาเป็น 3 วันเพื่อให้พนักงานมีเวลามากขึ้น และยังให้พนักงานใช้เวลาที่เหลือจากการบริการลูกค้าไปปลูกผักที่บริษัทซื้อที่ไว้โดยใช้คำว่า self sufficiency com pany

"ผมเห็นตัวอย่างนี้แล้วซาบซึ้ง อันนี้เป็นตัวสะท้อนว่าเราอยู่ในกรอบของทุนนิยม จึงเห็นว่าเราต้องมีเป้า ต้องโตไปเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อเห็นใครทำผิดไปจากนี้ก็มองว่าแปลก"

"ในแง่ของเรา เราก็ไม่ได้พยายามทำภาพให้แตกต่างจากคนอื่น เพียงแต่รู้สึกว่าเราอยู่วันนี้ก็มีความสุขดี เราไม่ต้องบอกว่า 3-5 ปีจากนี้เราต้องเข้าตลาด ในส่วนตัวผมไม่มีเรื่องนี้ เหมือนกับว่าวันนี้ผมรู้สึกว่างานที่ทำมันมีค่า อย่างงานวิจัยเรื่อง CSR ที่ทำสามารถสร้างรายได้ แต่ขณะเดียวกันมันก็มีประโยชน์กับสังคม ผมมีความสุขและไม่เดือดร้อน"

"การไม่ตั้งเป้าเหมือนธุรกิจปกติ ทำให้เราอยู่บนวิถีของความพอดีแบบที่ควรจะเป็น ผมคิดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทก็ไม่ได้แตกต่างจากบริษัทที่ตั้งเป้าการเจริญเติบโต หน้าที่ของผู้บริหารและพนักงานก็มีหน้าที่ทำให้มันเติบโต เพียงแต่เราก็มีวิธีการของเรา ที่ไม่ใช่รับงานหรือทำอะไรที่มีความเสี่ยงสูง และวิถีแบบที่เราเป็นอยู่นี้ก็ไม่ได้ทำให้เราหยุดคิดโปรดักต์ เซอร์วิสใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นตัวสร้างรายได้ให้เราอยู่รอดได้"

สร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัฒนธรรมองค์กร
อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญในธุรกิจนี้ไม่เพียงเทคโนโลยีแต่ยังอยู่ที่ "คน" เป็นสำคัญ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรในแบบครอบครัวและการคัดสรรคนที่เหมาะสมกับบริษัทถือเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้บริษัทก้าวมาถึงปัจจุบัน

"ผมมองว่าบรรยากาศของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มันแห้งแล้ง ซึ่งไม่ใช่ว่าเขาไม่ดีแต่มันเป็นความรู้สึกส่วนตัว พอมีบริษัท จึงพยายามสร้างวัฒนธรรมฉันพี่น้องมีอะไรก็คุยกันได้ และอาจทำให้อัตราการเข้าออกของพนักงานต่ำมาก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่รับวัฒนธรรมแบบนี้ได้ คนที่ต้องการการเติบโตอย่างรวดเร็วก็อยู่กับเราได้ไม่นาน"

ดังนั้น การรับคนลักษณะที่ว่าเข้ามาจะถูกกลั่นกรองตั้งแต่ต้น เพราะบริษัทเงินเดือนไม่สูง ในฐานะผู้บริหารเอง "พิพัฒน์" มีรายได้สูงกว่าพนักงานที่รายได้ต่ำที่สุดในบริษัทไม่เกิน 10,000 บาท แต่ผลตอบแทนจะได้มาจากโครงการที่ทำ เมื่อได้กำไรมาก็จะมาแบ่งกันตามความรับผิดชอบของแต่ละคน

"สิ่งนี้ทำให้เราไม่ต้องปกปิดพนักงานว่าเราได้มากไม่ต้องมีกระบวนการอะไร ทุกคนก็จะรู้ว่าช่วยกันทำช่วยกันหาเงินก็จะเพิ่ม เมื่อมีความจริงใจทุกอย่างมันก็มา" เขาเชื่ออย่างนั้น

ท้ายที่สุด เมื่อถามว่าเขาได้อะไรจากการดำเนินธุรกิจแบบนี้

"ในอนาคตผมก็ไม่รู้ว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างเพราะการทำธุรกิจมันไดนามิกตลอดเวลา แต่อย่างน้อยที่สุดตอนนี้ทุกเช้าเวลาที่ตื่นขึ้นมาทำงานที่บริษัทผมรู้สึกมีความสุข เมื่อก่อนผมทำงานเงินเดือน 6 หลัก แต่รู้สึกต่างกัน เพราะรู้สึกต้องคิดแข่งขันตลอดเวลา แต่ตอนนี้งานไม่ได้แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เรามีโครงการที่สามารถทำทั้งปีเราอยู่ได้ เราก็มีความสุข"

เป็นความสุขของ "คน" ที่เลือกจะเดินบนเส้นทางธุรกิจในแบบฉบับของตัวเอง เป็นการเดินนอกกรอบและปฏิเสธ "ทุนนิยม" แม้ว่าเขาจะเป็นหนึ่งในผลผลิตจาก "ทุนนิยม" ก็ตาม !!


 
     
ThaiURL.com © All Rights Reserved. Copyright 1999-2012 Please read our disclaimer